ชาวบ้านบน เป็นใคร มาจากไหน
จากแผนที่ฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมาแล้วของพื้นที่ ที่เป็นเมืองสงขลาปัจจุบัน ซึ่งมี 2
ชุมชนโบราณอยู่ใกล้กันใต้คือ
ชุมชนบ่อยาง อยู่บริเวณรอบวัดยางทอง และชุมชนบ่อพลับตรงบริเวณบ้านบนและมัสยิดอุสาสนอิสลามในปัจจุบัน
แผนที่ฝรั่งเศส แสดงที่ตั้งเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง
พงศาวดารเมืองสงขลา เรียบเรียงโดยพระยาวิเชียรคิรี (ชม) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาสุนทรานุรักษ์
ได้เขียนไว้ว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
เสด็จมาราชการที่เมืองนคร และเลยมาเมืองสงขลา ได้เสด็จประทับว่าราชการที่พลับพลา ณ
บ้านบ่อพลับ ซึ่งสร้างโดยพระสงขลาโยมนอกราชการ ซึ่งเป็นมุสลิม กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ
(บุญหุ้ย) ทรงพระกรุณาให้มีตราเรียกเจ้าเมืองมลายูเข้าเฝ้าพร้อมกัน ณ ที่แห่งนี้ ขณะเดียวกัน
ได้มอบหมายให้เมืองสงขลา เป็นผู้ดูแลควบคุมหัวเมืองมลายู รวมถึงให้เป็นผู้รวบรวมส่วย
ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ไปยังบางกอก
ประกอบกับบริเวณใกล้เคียง คือบ้านบ่อยาง เคยเป็นที่ตั้งของค่ายทหารที่ดูแลความปลอดภัยของเมืองด้วย
จากเหตุผลที่ว่านี้ เมืองสงขลาน่าจะต้องมีสถานที่รับรองเจ้าเมือง
หรือตัวแทนเจ้าเมืองและผู้ติดตามจำนวนไม่น้อยในการดูแลความปลอดภัย
ให้กับคณะที่มาส่งส่วยในแต่ละปี
และจำเป็นจะต้องมีสถานที่ประกอบศาสนกิจให้กับท่านเหล่านั้นอย่างแน่นอน จากเหตุผลดังกล่าว
เป็นไปได้ว่า มัสยิดบ้านบน อาจจะมีการสร้างมาก่อนแล้วเพื่อการนี้ ปกติแล้วอาคารมัสยิดโบราณที่มีอายุมากกว่า
200 ปีจะสร้างด้วยไม้
จากบันทึกการสัมภาษณ์ นายหมัด คะทวี
อายุ 88 ปี มุสลิมที่มีอายุมากที่สุดในเวลานั้น ซึ่งสัมภาษณ์ โดยนายอดุลย์ วัชรดิลก
( เสีย
ชิวิตเมื่อ พ.ศ. 2521) ระบุว่า มัสยิดหลังปัจจุบัน สร้างขึ้นราว พ.ศ.2390 ( ประมาณ
5 ปี หลังการพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์ เพื่อปักหลักเมือง ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ) โดยนายช่างชุดเดียวกับที่มาสร้างโบสถ์วัดกลาง
หรือวัดมัชฌิมาวาส ซึ่งเป็นไปได้ว่าเมื่อชุมชนมีความหนาแน่นขึ้น หลังจากการย้ายเมืองมา
ณ ที่ปัจจุบัน อาจมีชาวมุสลิมจากบ้านหัวเขาย้ายถิ่นฐานมาฝั่งนี้ด้วย
และจากการแต่งงานระหว่างมุสลิมด้วยกัน
|
ป้ายหน้าสุสานของคุณอดุลย์ วัชรดิลก |
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของมัสยิดบ้านบน ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง
หากไม่มีชุมชนมุสลิมมาก่อน ย่อมเป็นการยากที่จะสร้างมัสยิดใหม่ในเขตกำแพงเมือง ซึ่งสร้างมาตามคติพุทธและพราหมณ์
หากเดินทางมาทางมาทางบก
ชุมชนบ้านบนจะมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่หน้าเมือง ใกล้ทางเข้าประตูยุทธชำนะ ด้านทิศใต้ของกำแพงเมือง
ซึ่งมีถนนไทรบุรีเชื่อมต่อไปยังเมืองไทร และมีประตูอัคนีวุธ
ซึ่งเป็นทางเข้าจากด้านทะเลสาบ สำหรับการเดินทางมาทางเรือ
บริเวณใกล้มัสยิดยังมีตลาดโบราณ คือตลาดบ่อพลับ ที่มีชื่อเสียงในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่มีเนื้อดีและมีความบางเป็นพิเศษ
เจ้านายทุกพระองค์จะเสด็จมาเยือนตลาดแห่งนี้เสมอเมื่อเสด็จมาเยือนสงขลา
|
การแต่งกายของสตรีบ้านบนในอดีต |
|
การแต่งกายของสตรีบ้านบนในอดีต |
หลักฐานจากภาพถ่ายโบราณ
ชาวบ้านบนมีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่คล้ายกับชาวพุทธดั้งเดิมมาก
ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา เครื่องแต่งกาย ที่อยู่อาศัย และอาหารการกิน เป็นไปได้ว่า ชาวบ้านบน
ไม่ใช่ใครจากที่ไหน เป็นคนไทยที่อยู่ที่นี่มาแต่แรก
เพียงแต่รับการนับถือศาสนาใหม่คือศาสนาอิสลาม เท่านั้นเอง
|
การแต่งกายของสตรีบ้านบนในอดีต |
|
อาคารมัสยิดในอดีต |
|
หลังคามัสยิดมุงด้วยกระเบื่องสงขลา เช่นเดียวกับบ้านที่อยู่โดยรอบ |
|
หออาซานในอดีต ไม่มีโดม |
ชุมชนบ้านบนปัจจุบัน
ตั้งอยู่บริเวณถนนพัทลุงและถนนนราธิวาส ในเขตกำแพงเมืองเก่าด้านใต้
(ปัจจุบันกำแพงเมืองได้ถูกรื้อออกหมดแล้ว)
บางส่วนของชุมชนอยู่นอกกำแพงเมืองในส่วนที่ปัจจุบันนี้เรียกว่า
“สะพานเหล็ก”และ”ซอยน้ำผึ้ง” ชุมชนบ้านบน มีมัสยิดบ้านบน หรือ มัสยิดอุสาสนอิสลาม
(อ่านว่า อุ -สา- สน อิสลาม) เป็นศูนย์รวมความศรัทธา
ของพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม
นอกจากชาวมุสลิมแล้ว พื้นที่บ้านบนยังมีชาวไทยพุทธ
และชาวไทยเชื้อสายจีนปะปนอยู่ด้ ในระหว่างคนบ้านบนด้วยกัน
จะแบ่งพื้นที่บ้านบนย่อยออกไปอีกเป็น 3
ส่วน คือ บ้านบน บ้านกลางและบ้านนอก
บ้านบนคือบริเวณตั้งแต่ถนนพัทลุงไปจนถึงถนนนราธิวาส
บ้านกลางคือบริเวณถนนนราธิวาสถึงสุดกำแพงเมือง (ปัจจุบันคือถนนกำแพงเพชร)
ส่วนบ้านนอก คือบริเวณนอกกำแพงเมืองออกไป คือจากถนนกำแพงเพชร
จนถึงบริเวณซอยน้ำผึ้ง สาเหตุที่เรียกว่าบ้านบน สันนิษฐานว่าเป็นเพราะตั้งอยู่ด้านบนของเมือง
หากเดินทางโดยเรือสำเภามาทางทะเลเช่นคนสมัยโบราณ ก็จะพบว่า
บ้านบนจะอยู่ด้านบนของเมือง แม้หากดูตามทิศ จะอยู่ด้านทิศใต้ก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่
5 มีพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลเมือง ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) กำหนดเขตสุขาภิบาลให้ครอบคลุมพื้นที่ที่เคยอยู่ในกำแพงเมืองเก่าทั้งหมดและบริเวณโดยรอบอีกบางส่วน
กินพื้นที่ 2 ตำบล คือตำบลบ่อยางและตำบลบ่อพลับ
พื้นที่บ้านบน วัดมัชฌิมาวาส ศาลเจ้าเสื้อเมือง อยู่ในเขตตำบลบ่อพลับ
ส่วนพื้นที่อีกด้าน ตั้งแต่ถนนยะหริ่งเป็นต้นไปอยู่ในเขตตำบลบ่อยาง เชื่อกันว่าที่มาของชื่อ”บ่อพลับ”
คือบ่อน้ำที่อยู่หน้ามัสยิดบ้านบน ซึ่งปัจจุบันยังมีให้เห็นและยังมีการใช้งานอยู่
ตำบลบ่อพลับได้ถูกยุบลงในภายหลังและถูกรวมอยู่ในตำบลบ่อยาง
มีราชทินนามที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านบน
คือ ขุนบ่อพลับพิศาล เป็นชื่อของกำนันตำบลบ่อพลับซึ่งเป็นชาวบ้านบน
ที่ประตูทางเข้ามัสยิดเดิม เคยปรากฏชื่อเป็นอักษรนูนต่ำเขียนว่า ขุนบ่อพลับ
ท่านเป็นผู้หนึ่งที่สร้างคุณูปการด้วยการบริจาคที่ดินบางส่วนให้แก่มัสยิดบ้านบน
ขุนบ่อพลับพิศาล เป็นต้นตระกูล”พิศาล”
|
พิธีฝังศพอิหม่ามเซ็น อุสตาส กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาท่านแรก |
|
คณะกรรมการมัสยิดบ้านบน สมัยอิหม่ามเซ็น อุสตาส ถ่ายรูปร่วมกับข้าราชการที่หน้ามัสยิด |
|
คณะกรรมการจัดงานเมาลิด ปี พ.ศ. 2519 |
ในปัจจุบัน ชาวบ้านบน
น่าจะมีทั้งส่วนที่ได้อาศัยอยู่ที่นี่ดั้งเดิมและส่วนที่ย้ายมาจากบ้านหัวเขา
ฝั่งสิงหนคร เมื่อครั้งที่มีการย้ายเมืองใหม่มาตั้งอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน
ชาวบ้านบนมีความโดเด่นในเรื่องการทำอาหารและขนมโบราณ อาหารที่ขึ้นชื่อ
มีข้าวมันแกงไก่สงขลา ขนมปำจี ขนมบูตู ข้าวเหนียวบอก ขนมปะดา เป็นต้น ชาวบ้านบน
นิยมอาศัยอยู่ในบ้านไม้ มีทั้งที่เป็นเรือนไทย และห้องแถว
ต่างกับชาวไทยเชื้อสายจีนที่นิยมสร้างตึก ซึ่งมีความคงทนกว่า
บ้านของชาวบ้านบนที่เป็นไม้ได้ผุพังไปตามกาลเวลา ในปัจจุบันจึงมีเหลือไม่มาก
อย่างไรก็ตามอาคารศาสนสถาน มัสยิดบ้านบน ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยอิฐและปูนอย่างคงทนถาวร
ได้รับการดูแลให้ตั้งตะหง่านโดดเด่นมั่นคงอยู่ริมถนนพัทลุงมาจนถึงปัจจุบัน.
|
โถงละหมาด ภายในมัสยิด |
|
ขนมถาด |
|
มันสำปะหลังกวน |
|
ห้องแถวชาวบ้านบน |
|
บ้านชาวไทยพุทธที่หน้ามัสยิด |
|
ขนมลูกโดน |
|
ข้าวเหนียวปิ้งบริเวณถนนนราธิวาส |
|
ซุปเอ็นเนื้อหน้ามัสยิด |
|
บรรยากาสวันศุกร์ ที่มีการละหมาดร่วมกัน |
|
ถนนพัทลุงยามคำ่คืน |
|
ชาวบ้านกำลังนำผู้ที่เสียชีวิตไปฝังที่กุโบร์ |
|
มัสยิดบ้านบนในปัจจุบัน |